You are here
Home > Top Story > ฟินเทค 3.0 ความยั่งยืนของอุตสากรรมทางการเงิน

ฟินเทค 3.0 ความยั่งยืนของอุตสากรรมทางการเงิน

หากเปรียบการเติบโตของธุรกิจฟินเทคในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเหมือนการพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ต้องบอกว่า “ฟินเทค 1.0” ที่เผยโฉมเป็นเวอร์ชั่นแรกราวปี 2012 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมทางการเงินไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดจากไอเดียใหม่ๆ ของฟินเทคสตาร์ทอัพ ผสมผสานกับการได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากกองทุน และนักลงทุนต่างๆ ทำให้นักวิเคราะห์ของหลายสำนักต่างฟันธงว่า ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมซึ่งเกิดจากฝีมือของฟินเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้แหละที่ทรงอนุภาพพอที่จะทำลาย “ธุรกิจธนาคาร” ที่เป็นรากฐานของอุตสาหกรรมการเงินมาอย่างยาวนานลงได้

ฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเงินทุนหนุนหลังจำนวนมหาศาล รวมถึงบทวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยชั้นนำของโลกที่ต่างชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าฟินเทคสตาร์ทอัพคือภัยคุกคามอันดับหนึ่งที่มีศักยภาพถึงขั้นทำลายธุรกิจธนาคารได้ในอนาคต  ส่งผลให้เกิดการตื่นกลัว และตื่นตัวของธนาคารใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนา “ฟินเทค 2.0” ในปี 2015 ที่เกิดจากความพยายามในการปรับตัวของธุรกิจธนาคารทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพื่อหวังช่วงชิงโอกาสที่กำลังจะเสียไปให้กับฟินเทคสตาร์ทอัพกลับคืนมา ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงป้องกันคู่ปรับสำคัญในอนาคตไปในตัว จึงทำให้ฟินเทคในเวอร์ชั่นนี้จะมีลักษณะของความเป็น “คอร์ปอเรทฟินเทค” ที่ก่อเกิดจากธนาคาร ซึ่งต่างจากเวอร์ชั่นแรกที่เน้นไปที่ฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีกองทุนต่างๆ หนุนหลัง

อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารจะพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และวิธีการใหม่ๆ ให้เอื้อต่อการสร้างฟินเทคที่แข่งขันได้ แต่ด้วยขนาดที่เทอะทะ เต็มไปด้วยขั้นตอนการทำงาน และกฏระเบียบมากมายของธุรกิจธนาคาร ทำให้พบว่ากว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ขึ้นมาสักตัวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แถมความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ หรือบริการออกสู่ตลาดก็สู้ฟินเทคสตาร์ทอัพที่เกิดในยุคฟินเทค 1.0 ซึ่งมีความคล่องตัวมากกว่าไม่ได้

ในขณะบั๊กของฟินเทค 2.0 ซึ่งมีธนาคารใหญ่หนุนหลังเริ่มโผล่มาให้เห็น ฟินเทคสตาร์ทอัพ 1.0 ก็กำลังเผชิญกับบั๊กขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน เมื่อพบว่าไม่สามารถขนาดธุรกิจได้ตามที่ต้องการเนื่องจากอุตสาหกรรมการเงินนั้นต่างๆ จากธุรกิจประเภทอื่น เพราะเต็มไปด้วยกฏระเบียบมากมาย การที่ธุรกิจซึ่งไม่ได้เป็นธนาคาร (non-bank) จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้จึงเป็นเรื่องยาก และมักมาเจอทางตันจากข้อกฏหมาย และข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดนี่เอง โดยเฉพาะบางประเทศที่มีกฏหมายทางการเงินที่ค่อนข้างเข้มงวดเพื่อปกป้องธุรกิจธนาคารซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของประเทศจนกลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่กันไม่ให้ฟินเทคสตาร์ทอัพก้าวเข้ามาได้ง่ายๆ แม้หน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินของหลายประเทศจะมีความพยายามในการสร้าง “กล่องทราย” ขึ้นมาให้ฟินเทคทั้งหลายได้ทดลองนำผลิตภัณฑ์ และบริการของตนเองมาทดสอบก่อนเปิดให้บริการจริง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือบทสรุปที่ลงตัวมากนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซ้ำร้ายกล่องทรายที่ถูกตั้งขึ้นมาเหล่านี้ยังถูกมองว่าอาจเป็นเพียงกลไกในการปกป้องธุรกิจธนาคาร หรือป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมการเงินของประเทศถูกครอบงำมากฟินเทคยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ

เมื่อเกิดกรณี “คนในอยากออก และคนนอกอยากเข้า” จึงทำให้ “ฟินเทค 3.0” ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมพ่วงด้วยคำว่า “พันธมิตร” ซึ่งหมายความว่าในเวอร์ชั่นนี้เราจะมีโอกาสเห็นฟินเทคสตาร์ทอัพใต้ร่มเงาของธนาคารที่เกิดขึ้นในเวอร์ชั่น 2.0 จูงมือฟินเทคสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นในเวอร์ชั่น 1.0  ก้าวข้ามกำแพงของกฏหมายทางการเงิน ซึ่งถือเป็นการช่วยกันจำกัดบั๊กที่เกิดขึ้นกับฟินเทคทั้งสองเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้เป็นอย่างดี

ฟินเทค 3.0 ธนาคารจะมองฟินเทคสตาร์ทอัพในภาพของการเป็นพันธมิตรที่สามารถช่วยเสริมสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ดีขึ้นในอนาคตมากกว่าภัยคุกคามที่จะเข้ามาทำลายธุรกิจธนาคารเหมือนในยุคแรกๆ ขณะที่ฟินเทคสตาร์ทอัพก็จะไม่มองธนาคารเป็นคู่แข่งที่ต้องหาทางล้มให้ได้เหมือนในอดตีอีกต่อไป ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เราจะเริ่มมองเห็นแนวโน้มของการจับคู่ระหว่างธนาคารกับฟินเทคสตาร์ทอัพกันบ้างแล้ว แต่จะเป็นไปแบบเงียบ ซึ่งในปี 2017 เราจะเห็นสิ่งนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

Top