You are here
Home > News > ก.แรงงาน ผุดไอเดียพัฒนา “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ตั้งเป้าเสริมความรู้การเงินให้กลุ่มแรงงาน

ก.แรงงาน ผุดไอเดียพัฒนา “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ตั้งเป้าเสริมความรู้การเงินให้กลุ่มแรงงาน

ก.แรงงาน จับมือ มูลนิธิซิตี้ – คีนัน ผุดไอเดียพัฒนา “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ตั้งเป้าเสริมความรู้การเงินให้กลุ่มแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ

กระทรวงแรงงานเดินหน้าร่วมมือมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน พัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน และฝึกอบรมบริหารการเงินกลุ่มแรงงาน ตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเสริมแกร่งองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่แรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาการก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบ

นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน เป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ที่มูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซียดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ด้วยจุดเริ่มต้นจากมูลนิธิซิตี้ เล็งเห็นว่า ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) นับเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เหตุสำคัญเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน จำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการเงินเร่งด่วน

โครงการฯ จึงเริ่มทำการวิจัยค้นคว้าปัญหาหนี้สินและทางออกให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน – กลุ่มเกษตรกร – กลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตร และนำเครื่องมือการเรียนรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ ไปประยุกต์ใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในประเทศไทย

ทั้งนี้ หลังดำเนินงานครบ 3 ปี ก็พบว่า หัวใจสำคัญของปัญหาหนี้สินคนไทย คือ การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน โดยที่ผ่านมาการให้ความรู้ทางการเงินมักถูกผนวกย่อยกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในรูปแบบต่างกันและมีความทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติและร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายไปสู่แผนปฎิบัติการให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

“กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จะมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาเนื้อหาแทรกในหลักสูตร ส่วนกลุ่มเกษตรกร จะมีธนาคารของรัฐให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน ถือว่าสองกลุ่มนี้มีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะที่กลุ่มแรงงานแม้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้โครงการฯ ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันนโยบายสร้างการเรียนรู้ทางการเงินที่เป็นรูปธรรม เช่น แอพพลิเคชั่นฉลาดคิด เรื่องเงิน จนเป็นผลสำเร็จ” นางวีระอนงค์ กล่าว

ขณะที่ คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ขยายความว่า “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ฉลาดคิดเรื่องเงิน ชุดความรู้การบริหารการเงินส่วนบุคคล แบบทดสอบ ตลอดจนเครื่องคำนวณทางการเงิน ภายใต้ 4 โมดูลย่อย ได้แก่ 1) การตั้งเป้าหมายทางการเงิน 2) การออมอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การใช้จ่าย 4) การบริหารหนี้ 2. เกมครอบครัวหรรษา ซึ่งออกแบบตัวละครให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงแรงงาน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การซื้อหวย ซื้อประกัน ทำงานโอที เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Google Play และ App Store

 

screen696x696-2screen696x696

 

นอกจากนี้ สถาบันคีนันฯ ยังได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์กรลูกจ้างในระดับต่างๆ จัดฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินสำหรับกลุ่มแรงงาน และวางแนวทางจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการออมอย่างครบวงจรด้วย

ด้าน คุณวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใต้การกำกับโดยกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในโครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” เพื่อหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กลุ่มแรงงานในและนอกระบบ กระทรวงแรงงานมีพันธกิจที่จะพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพสูงและสอดคล้องต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจ เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจครัวเรือนของแรงงานโดยเฉพาะการบริหารการเงินส่วนบุคคล มีผลโดยตรงต่อผลิตภาพของแรงงาน ดังนั้นจึงได้ร่วมกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเชียพัฒนาวิธีสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์เทรนนิ่ง ด้วย “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ที่มีทั้งชุดความรู้ทางการเงินและเกมออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมแรงงานยุคใหม่ พร้อมมีแผนที่จะบรรจุหลักสูตรฝึกอบรมการบริหารการเงินให้กลุ่มแรงงาน โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ

กลุ่มแรงงานในและนอกระบบทั่วประเทศ มีประมาณ 38.4 ล้านคน มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางและต่ำถึงร้อยละ 83 นอกจากนี้กลุ่มแรงงานยุคใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี มีอัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้แรงงานยังประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ ถึงแม้ว่าแรงงานจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกร
กระทรวงฯ คาดหวังว่า แอพฯ นี้จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะด้านการเงินที่กลุ่มแรงงานยุคใหม่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปลูกฝังพฤติกรรมการบริหารจัดการการเงินที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

Top