ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในต่างประเทศได้เริ่มมีการนำอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เข้ามาใช้เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โดยหวังว่าอุปกรณ์ IoT เหล่านั้นจะสามารถสร้างประสบการณ์ในเชิงบวกให้กับผู้บริโภคได้ดีกว่าเทคโนโลยีในอดีต อีกทั้งยังมองว่าอุปกรณ์ IoT เหล่านั้นจะสามารถเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย
Jim Marous ผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทค จาก The Financial Brand กล่าวโดยสรุปถึงตลาด IoT ว่า โลกของ IoT คือเครือข่ายของเซนเซอร์ที่เชื่อมต่อกันโดยฝังอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูล และแชร์ข้อมูลเหล่านั้นกับผู้ใช้งาน แอปพลิเคชัน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยกัน ซึ่งจากความสามารถในการวัดค่าของอุปกรณ์ IoT เหล่านี้สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เลยทีเดียว ที่สำคัญ การมาถึงของ IoT ยังมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้กับธนาคารได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย
ทั้งนี้จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Cap Gemini ได้มีการอ้างอิงตัวเลขของ General Electric ที่เคยระบุว่า ตลาด IoT นั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตสู่มูลค่า 10 – 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอีก 20 ปีข้างหน้า รายงานดังกล่าวยังอ้างถึงงานวิจัยจาก IDC ที่ประมาณการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 มากกว่า 40% ของดาต้าบนระบบเน็ตเวิร์กของโลกจะมาจากอุปกรณ์ดิจิตอลที่เชื่อมต่อกันเองอีกต่างหาก ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าตลาด IoT จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากในอนาคต
อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านซีเคียวริตี้และความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอุปกรณ์ IoT ก็ยังมีอยู่ และเป็นสิ่งที่ภาคการเงินการธนาคารให้ความสำคัญอย่างมากด้วย เพราะหากถูกเจาะระบบได้ย่อมหมายถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่จะตกอยู่ในอันตรายอย่างมาก โดยในปัจจุบัน แฮกเกอร์สามารถมองหาอุปกรณ์ IoT ที่ระบบซีเคียวริตี้ต่ำเพื่อเจาะระบบได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เว็บแคม เป็นต้น
ในจุดนี้จึงทำให้ผู้บริหารขององค์กรหลายแห่งมองว่า ปัญหาด้านซีเคียวริตี้คือกำแพงที่สะกัดกั้นการเติบโตของตลาด IoT ไม่ให้ไปถึงจุดที่มีการเติบโตในระดับล้านล้านเหรียญสหรัฐนั่นเอง ความท้าทายของภาคการเงินการธนาคารในตอนนี้คือการให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์ IoT ให้มีความปลอดภัย โดยการปรับปรุงด้านการยืนยันตัวตนและระบบซีเคียวริตี้นั่นเอง
ที่มา http://fintechnews.sg
You must be logged in to post a comment.