การปฏิบัติตามกฎหมายไม่เพียงเป็นความท้าทาย แต่ยังหมายถึงค่าใช้จ่ายด้วย โดยเฉพาะกับธนาคาร โดยบริษัท Bain & Company ประมาณการว่า ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการกฎหมายของรัฐบาลแต่ละประเทศ การบริหารจัดการความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายด้านการกำกับการทำธุรกรรมที่ธุรกิจธนาคาร (โดยเฉพาะธนาคารยักษ์ใหญ่) ต้องแบกรับนั้น น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเลยทีเดียว
ขณะที่ ผลการศึกษาของ LexisNexis Risk Solution พบว่าสถาบันการเงินในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทยนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉพาะฝ่ายกำกับการทำธุรกรรม (Compliance) เพื่อป้องกันการฟอกเงินมากถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Craig Davis ผู้บริหารจาก KPMG บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงเผยว่า หนทางที่จะลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงก็คือการใช้ RegTech (Regulatory Technology) เข้ามาช่วย เพื่อทำงานด้านการกำกับธุรกรรมโดยอัตโนมัติ เช่น การทำรีพอร์ต
โดยเขาอธิบายว่าการทำรีพอร์ตของฝ่าย Compliance นั้น เป็นงานที่ธนาคารส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานคนในการทำ และเป็นงานที่สิ้นเปลืองแรงงานและเวลามาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องดึงข้อมูลมาจากระบบ จากนั้นก็มาจัดการในสเปรดชีท ฯลฯ จนออกมาเป็นรีพอร์ต (ที่มีโอกาสเกิดความผิดพลาด)
หากการทำรีพอร์ตดังกล่าวได้ RegTech เข้ามาช่วยก็จะทำให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงานลงได้อีกมากนั่นเอง
ข้อดีอีกประการหนึ่งของโซลูชันด้าน RegTech ก็คือ มันมาพร้อมเทคโนโลยีด้าน Analytics และการประเมิน (Assessment) ขั้นสูง ที่สามารถเรียนรู้ได้ รวมถึงสามารถสนับสนุนการประเมินกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่แต่ละประเทศบังคับใช้ โดยอิงจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ด้วย
นอกจาก RegTech จะช่วยลดรายจ่ายของธนาคารได้แล้ว เครื่องมือเหล่านี้ยังสามารถกลายเป็นเครื่องสร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับธนาคารได้อีกด้วย เนื่องจาก RegTech อนุญาตให้ธนาคารทำการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การบริการลูกค้า และการตัดสินใจของธนาคารดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น RegTech สามารถดึงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจสภาพการเงินของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถวิเคราะห์การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็กได้ดีขึ้นด้วย
แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงแรกเริ่มของ RegTech แต่ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียก็เริ่มแสดงความสนใจ และเริ่มนำไปปรับใช้งานกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น The Monetary Authority of Singapore (MAS) ที่ได้เปิดตัว Regulatory Sandbox เมื่อปลายมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้สตาร์ทอัปด้านฟินเทคและสถาบันการเงินได้ลงมาทำการทดสอบนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น
Greg Knieriemen ประธานบริหารด้านกลยุทธ์เทคโนโลยีจากฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์กล่าวว่า ฮิตาชิและ Bank of Tokyo – Mitsubishi UFJ (BTMU) กำลังใช้งาน Sandbox ของ MAS เพื่อทดสอบการใช้บล็อกเชนเทคโนโลยีในการออกเช็คในสิงคโปร์ การทดสอบนี้มีเป้าหมายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัย กฎหมาย ฯลฯ
เช่นเดียวกับฮ่องกงที่มีการเปิดตัว Fintech Supervisory Sandbox เมื่อปลายเดือนกันยายนเพื่อให้ฟินเทคและสถาบันการเงินได้ไปทดสอบบริการก่อนจะทำการสเกลอัป ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานได้เพียงสองเดือน ก็มีสองธนาคารที่เปิดทดสอบการยืนยันตัวบุคคลด้วยไบโอเมทริกซ์ในการเทรดหลักทรัพย์มาใช้ใน Sandbox ด้วย
อย่างไรก็ดี การนำ Sandbox มาใช้ อาจต้องมีการปรับกฎระเบียบบางประการ รวมถึงต้องมีการนำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้ร่วมด้วย เช่น คลาวด์
สำหรับธนาคารและผู้ออกกฏที่เกี่ยวข้องอาจต้องหันมาทำงานร่วมกันมากขึ้น ในการออกแบบและทดสอบการใช้งานบริการทางการเงิน รวมถึงธนาคารต้องมีการประเมินเทคโนโลยีของบริษัทตนเอง เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีให้ใช้งานอยู่มากมาย แต่จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีอื่นได้ด้วย
มากไปกว่านั้น ธนาคารจำเป็นต้องระบุปัญหาที่ตนเองพบ ก่อนที่จะค้นหาว่าวิธีการ หรือเทคโนโลยีอะไรจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยสิ่งที่เหมาะกว่าบางครั้งอาจเป็นวิธีคิดแบบสตาร์ทอัปนั่นคือ ผิดให้ไว เมื่อทดลองโซลูชันแล้วไม่เวิร์กก็ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วไปทดลองวิธีอื่นต่อไป อย่าไปจมกับความผิดพลาดนั้นนานเกินควร
ที่มา https://computerworld.com.sg/resource/applications/why-regtech-will-be-asian-banks-next-big-focus-area/
You must be logged in to post a comment.