You are here
Home > News > FinTech กัมพูชามาแล้ว แต่โตแบบช้าๆ

FinTech กัมพูชามาแล้ว แต่โตแบบช้าๆ

แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจฟินเทคในกัมพูชาจะตกเป็นรองประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันก็พบแนวโน้มเชิงบวกของธุรกิจฟินเทคในกัมพูชาแล้ว

โดยความท้าทายของตลาดกัมพูชานั้นมาจาก Fintechnews ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรวัยผู้ใหญ่ของกัมพูชาเพียง 13% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ส่วนองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการและมีบัญชีธนาคารนั้นก็น้อยกว่า 4% อีกด้วย ซึ่งหากมองในแง่ดีแล้วนี่คือโอกาสครั้งสำคัญสำหรับฟินเทคที่จะก้าวเข้าไป Disrupt ได้เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากแปลว่าระดับความรู้ด้านการเงินของชาวกัมพูชานั้นอาจมีช่องว่างที่ต้องให้การศึกษาเพิ่มเติมสูง รวมถึงอาจต้องใช้เวลาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย

The-State-of-Fintech-in-Cambodia-1440x564_c

โดยจากการศึกษาของ Asian Development Bank หรือ ADB พบว่า การปรับใช้บริการด้านการเงินดิจิตอลมีส่วนช่วยขยายเศรษฐกิจให้กัมพูชาได้ และอาจเพิ่ม GDP ได้ถึง 6%

ขณะที่เทรนด์อีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังมาในกัมพูชาคือ Mobile Payments หรือการโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2016 นั้นมีผู้ใช้งาน 33% ทำการโอน-รับเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า บริการทางการเงินดิจิตอลกำลังได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ

มร.คริสโตเฟอร์ แมคคาธี ซีอีโอของ Mango Tango บริษัทด้านการตลาด และผู้บริหารของบริษัทด้าน Digital Finance อย่าง  Cambodia eBusiness Working Group เผยว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากสำหรับกัมพูชา และโอกาสเติบโตก็สูงมากด้วย

“เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับบริการการเงินดิจิตอลในกัมพูชาแล้ว แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะเชิญชวนให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้ระบบของธนาคารได้”

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะลูกค้าธนาคารในกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่ได้รับประสบการณ์ในการให้บริการที่ดีนัก และการเปิดบัญชีนั้นมีไว้เพื่อรับเงินที่โอนเข้ามา ซึ่งโดยมากแล้ว ลูกค้าจะถอนออกในวันที่เงินโอนเข้ามาทันที

So Phonnary รองประธานของธนาคาร Acleda ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาเผยว่า ผลิตภัณฑ์ด้านฟินเทคยังต้องการการปรับปรุง และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้ผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน

“ลูกค้าส่วนใหญ่ยังยึดติดกับบริการทางการเงินแบบเดิม ๆ ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจมากขึ้นคือการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์จากบริการออนไลน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ”

โดยปัจจุบัน ธุรกิจฟินเทคของกัมพูชาที่มีชื่อเสียงมีหลายราย ยกตัวอย่างเช่น ในตลาด Payment มีบริการหนึ่งชื่อ Wing (เปิดตัวเมื่อปี 2009) และปัจจุบันเป็นบริการที่ชาวกัมพูชาใช้ในการส่งและรับเงินระหว่างกันผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือบริษัทด้านโทรคมนาคมของกัมพูชาชื่อ Smart Axiata ก็เปิดตัวบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเช่นกัน ในชื่อ SmartLuy ที่สามารถโอนเงินและทำธุรกรรมได้แบบดิจิตอล ซึ่ง Smart Axiate ยังได้เปิดตัวบริษัท Venture Captital ด้วยเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัปสัญชาติกัมพูชาที่พัฒนาบริการฟินเทค, การค้าอิเล็กทรอนิกส์, โซเชียลมีเดีย, โฆษณา, การศึกษา และสุขภาพด้วย โดยการมอบเงินลงทุนนั้นอาจมีได้ตั้งแต่ 25,000 เหรียญสหรัฐ – 500,000 เหรียญสหรัฐ

 

ดาวจรัสแสงดวงใหม่ของกัมพูชา

ที่ผ่านมา กัมพูชามีเวทีสำหรับสตาร์ทอัปอยู่เช่นกัน ซึ่งในด้านฟินเทคนั้น กัมพูชามีสตาร์ทอัปฟินเทคอยู่หลายยี่ห้อ ยกตัวอย่างเช่น Snapcash บริการเงินกู้ผ่านแอปพลิเคชัน, Mochay แอปพลิเคชันชำระเงินสำหรับค้าปลีกที่ใช้ QR Code ในการประมวลผล, Pikgy แอปพลิเคชันให้ความรู้ด้านการเงินผ่านเกม

นอกจากสตาร์ทอัประดับท้องถิ่นแล้ว มีสตาร์ทอัปอีกรายอย่าง Morakot Technology ที่ได้รับการจับตาในระดับโลก โดย Morakot พัฒนาระบบ core Banking สำหรับธุรกิจไมโครไฟแนนซ์และธนาคาร ซึ่งทำให้  Startupbootcamp Fintech acceleration program ในสิงคโปร์เชิญ Morakot ไปเข้าร่วมในแคมป์ด้วย และที่นั่น Morakot Technology ได้พบผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มากมาย และได้ทดสอบบริการนำร่องกับผู้ให้บริการอย่าง MasterCard, CIMB, DBS Bank และ PwC ด้วย

 

ที่มา http://fintechnews.sg/9464/cambodia/cambodia-fintech-industry-set-thrive/

 

Top