ฟินเทคของเวียดนามถือได้ว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการให้การสนับสนุนด้วยดีของรัฐบาล โดยสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีจากภาครัฐคือการเปิดตัวคณะกรรมการ SBV Steering Committee on Fintech เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
คณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารเวียดนาม (State Bank of Vietnam หรือ SBV) และตัวแทนจากองค์กรการรับชำระเงินแห่งชาติ (the National Payment Corporation of Vietnam) ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ธนาคารกลางของรัฐเกี่ยวกับโซลูชันในการสนับสนุนฟินเทค ซึ่งรวมถึงการวางกรอบด้านกฎหมายเพื่อช่วยเกื้อหนุนให้บริษัทในอุตสาหกรรมฟินเทคสามารถเติบโตได้ในเวียดนาม ไปจนถึงการให้คำแนะนำ ด้านกลยุทธ์และการวางแผนให้นวัตกรรมด้านฟินเทคเติบโต ซึ่งนั่นส่งผลต่อจำนวนของนักลงทุน และบริษัทด้านการลงทุนที่หันมาให้ความสนใจกับสตาร์ทอัปด้านฟินเทคในเวียดนามมากขึ้นเช่นกัน
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทเงินทุนสองแห่งของเกาหลีใต้อย่าง Korea Investment Partners (KIP) และ Mirae Asset Venture Investment ได้ประกาศลงทุนใน Appota ซึ่งเป็นทีมพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายล์ด้วยมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐมาแล้ว หรือเมื่อเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่ผ่านมา Champion Crest บริษัทลงทุนที่มี Credit China Fintech Holding เป็นเจ้าของก็ได้มีการลงทุนใน Amigo Technologies JSC โดยการซื้อหุ้น 51% หรือคิดเป็นเงิน 12.73 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่ง Amigo Technologies JSC นั้นเป็นผู้พัฒนาบริการด้านไอทีและโซลูชันสำหรับบริการทางการเงินแบบส่วนบุคคลในเวียดนาม และเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงติด 1 ใน 5 ของประเทศ ขณะที่บริษัทลูกของ Amigo Technologies JSC อย่าง Vina Investment Development and Technology Transfer JSC นั้นก็เป็นเจ้าของระบบ Paypost Payment System ซึ่งขณะนี้ใช้บริการโดย Vietnam Post และถือว่าเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในตลาดเวียดนามด้วย
Phang Yew Kiat ซีอีโอของ Credit China Fintech เผยว่า ดีลนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศของ Credit China Fintech
“การควบกิจการของ Amigo Technologies ได้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ของ Credit China Fintech ในระดับโลกที่ทำให้เห็นถึงทิศทางว่าเราจะก้าวออกไปเติบโตนอกตลาดจีนได้อย่างไร”
สถาบัน Topica Founder ได้ประมาณการณ์ตัวเลขในปี 2016 ว่า ดีลด้านการลงทุนในสตาร์ทอัปของเวียดนามนั้นน่าจะมีมูลค่า 129 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว โดยดีลที่ใหญ่ที่สุดนั้นมาจาก M_Service ซึ่งเป็นของ MoMo แอปพลิเคชันด้านการรับชำระเงินออนไน์ ซึ่งได้รับเงินลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐจาก Standard Chartered Private Equity (SCPE) และ 3 ล้านเหรียญสหรัฐจาก Goldman Sachs มานั่นเอง
โดยปัจจุบัน แบรนด์ฟินเทคสตาร์ทอัปของเวียดนามมีมากกว่า 40 แบรนด์แล้ว แถมยังกระจายตัวไปในหลาย ๆ แอเรีย ทั้งในส่วนของระบบการให้ยืมเงินแบบ peer-to-peer หรือการพัฒนาระบบ Credit Scoring (การวัดความน่าไว้วางใจผ่าน Social) ไปจนถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน
ยกตัวอย่างสตาร์ทอัปที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้แก่ Timo แอปพลิเคชันที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าธนาคาร หรือ Bitcoin Vietnam ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ เป็นต้น
โดย Timo นั้น ล่าสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Sun Life บริษัทประกันภัยของเวียดนามและเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการประกันภัยใหม่ ๆ ออกมาแล้ว
Investree สตาร์ทอัปจากอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งค่ายที่ต้องการมาลงทุนในเวียดนาม โดยจะนำบริการยืมเงิน Investree เข้ามาเปิดในเวียดนามพร้อมชูจุดขายด้านความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวในช่วงปี 2018
่ส่วน Grab คู่แข่งรายใหญ่ของ Uber ซึ่งให้บริการอยู่ในเวียดนาม ไทยและมาเลเซียนั้นก็เปิดเผยเช่นกันว่าบริษัทกำลังมองหาการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ โดยทางบริษัทเผยว่าอาจมีการพัฒนาบริการทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน มูลค่าของ Grab นั้นแตะ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว โดยการลงทุนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา http://fintechnews.sg/10060/vietnam/fintech-vietnam-update-infographic/
You must be logged in to post a comment.