จากรายงานเรื่อง Indonesian Fintech Report โดย Fintech Indonesia และ Daily Social พบว่า ปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียมากกว่า 100 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ 70 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ดี การมีประชากรอินเทอร์เน็ตในระดับนี้ก็ใช่ว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินได้อย่างสะดวกสบาย ตรงกันข้าม ในเมืองใหญ่หลาย ๆ เมือง ประชาชนยังเจอปัญหาติดขัด ไม่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้
โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า มีชาวอินโดนีเซียราว 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้า ขณะที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้เงินสด หรือไม่ก็บริการโอนเงินผ่านธนาคาร แต่ก็มีแค่ 36 เปอร์เซ็นต์ของชาวอินโดนีเซียเท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร นั่นจึงทำให้เกิดแพลตฟอร์มการชำระเงินเช่น DOKU หรือกระเป๋าสตางค์เวอร์ชวลอย่าง GO-PAY ขึ้นมาใช้งานอย่างแพร่หลาย
Ali โปรดิวเซอร์ฟรีแลนซ์รายหนึ่งในกรุงจาการ์ตา เผยว่า เขารู้สึกว่าการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาเพื่อใช้โอนเงินจำนวนน้อย ๆ ให้กันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้รวดเร็วกว่าการไปโอนเงินที่ธนาคาร แถมเขาเองก็ไม่ต้องลงทะเบียนด้านความปลอดภัยเพื่อทำ e-Banking กับทางธนาคารด้วย
อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่สูงมากของอินโดนีเซียก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฟินเทคเป็นที่ต้องการ แม้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด จะตั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอาไว้ที่ 9 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม โดยสำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนและความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียคือตัวการสำคัญที่ทำให้อัตราการกู้ยืมเพื่อธุรกิจในอินโดนีเซียเพิ่มสูง และนั่นทำให้แพลตฟอร์มประเภท crowdfunding และแพลตฟอร์มเพื่อการกู้ยืมเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดนีเซีย โดย Fintech Report ระบุว่า ฟินเทคเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วมาก และมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟินเทคในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 78 เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว (2015 – 2016) ส่วนตัวเลขการลงทุนในฟินเทคของอินโดนีเซียก็เพิ่มขึ้นเป็น 486.3 พันล้านรูเปีย
องค์กรภาคสังคมในชื่อ Kitabisa.com ที่แปลว่า “เราทำได้” ในภาษาอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในหลายองค์กรที่นำแนวคิด crowdfunding มาใช้ และสามารถช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนสร้างโรงเรียนในท้องถิ่นห่างไกล การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยที่ยากไร้ ฯลฯ ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 ปัจจุบัน แพลตฟอร์มดังกล่าวได้รับเงินบริจาคมากกว่า 111,000 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 275 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของฟินเทคสตาร์ทอัปนั้นไม่ได้มีจุดเริ่มต้นเหมือนกับธนาคาร หากแต่มาจากปัญหาของภาคสังคมที่ชาวอินโดนีเซียต้องเผชิญ เช่น การไม่สามารถเข้าถึงบริการจากธนาคารและสถาบันการเงินได้ จึงทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กของอินโดนีเซียคือกลุ่มที่เข้าใช้บริการหลักของฟินเทคเหล่านี้
นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์ม crowdfunding สำหรับชาวมุสลิมอย่าง Kapital Boost (จากสิงคโปร์) และ EthisCrowd ซึ่ง Kapital Boost นั้นมีลูกค้าอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่โทรคมนาคมไปจนถึงร้านขายลูกอม และแคมเปญบน crowdfunding นั้นพบว่าสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ระหว่าง 15 – 24 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ส่วนภาคการเกษตรก็มีสตาร์ทอัปอย่าง Limakilo ที่ต้องการทำตัวเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกษตรกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้พ่อค้าคนกลางถูกตัดออกไปจากกลไลการค้าโดยสิ้นเชิง สำหรับผลผลิตที่ใช้แพลตฟอร์ม Limakilo แล้วได้ผลดีก็คือกระเทียม หอมใหญ่ ที่ตอนนี้มีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายผ่าน Limakilo โดยตรง แถม Limakilo ยังเผยด้วยว่าราคาที่ซื้อขายกันบนระบบนั้นถูกกว่าราคาที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดถึง 15% ด้วย
แม้จะเป็นเซ็กเตอร์ที่มีการเติบโตสูงมาก แต่ความที่เป็นตลาดเกิดใหม่ จึงยังไม่มีการควบคุมดูแลให้ปลอดภัยมากพอ ดังนั้น ในขณะที่ฟินเทคนำข้อดีมาสู่สังคมอินโดนีเซีย มันก็มีความเสี่ยงสูงไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงพยายามจะเข้ามาดูแล แต่เมื่อถามความเห็นจากผู้ให้บริการฟินเทคแล้วพบว่า 61% มองว่ากฎหมายในปัจจุบันไม่ชัดเจน และไม่ตอบโจทย์มากพอ และ 49% มองว่ากระบวนการทางกฎหมายนั้นล่าช้า (อ้างอิงจากผลการศึกษาของ Deloitte Consulting and Asosiasion Fintech Indonesia) ส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียพัฒนากฎระเบียบใหม่ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการจัดระเบียบกระบวนการทางธนาคารเช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน, Virtual Wallets, Data Security ไปจนถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วนในฝั่งสถาบันการเงินก็จะเน้นในเรื่องกระบวนการทำ Digital KYC (Know your customer) digital signature และ online lending สำหรับสตาร์ทอัปกลุ่ม non-banking เพิ่มเติมด้วย
ซึ่งหากภาพทั้งหมดปรากฏออกมาด้วยดี มีกฎที่ชัดเจน มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐาน และมีการคุ้มครองผู้บริโภคก็อาจเป็นไปได้ว่า อินโดนีเซียกับฟินเทคกำลังจะเดินไปด้วยกันได้อย่างราบรื่่นมากขึ้น และกลายเป็นประเทศที่สามารถใช้เทคโนโลยีทางการเงินเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชาวอินโดนีเซีย 263 ล้านคนได้เลยทีเดียว
You must be logged in to post a comment.