You are here
Home > Top Story > สิ่งที่ต้องศึกษา กับไมโครไฟแนนซ์ในอินโดนีเซีย

สิ่งที่ต้องศึกษา กับไมโครไฟแนนซ์ในอินโดนีเซีย

ในหลายประเทศ การมาถึงของไมโครไฟแนนซ์อาจหมายถึงรูปแบบการกู้ยืมที่ไร้กฎระเบียบเข้าควบคุม และสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้ยากไร้มากยิ่งขึ้น แต่สำหรับอินโดนีเซียแล้ว เรื่องราวกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จกับไมโครไฟแนนซ์พอสมควร ซึ่งประเทศต่าง ๆ สามารถนำมาศึกษาได้ในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

microfinance-indonesia-1440x564_c

ประเด็นที่หนึ่ง อินโดนีเซียพบว่าไมโครไฟแนนซ์ไม่จำเป็นต้องเกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคมเสมอไป แม้กระทั่งในประเทศที่มีหมู่เกาะจำนวนมาก และมีการกระจายตัวของประชากรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกลค่อนข้างสูง โดยการมาถึงของไมโครไฟแนนซ์ในอินโดนีเซียนั้นพบว่า สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวอินโดนีเซียดีขึ้นได้

อีกประการต่อมาคือ ในรายงานของ KPMG พบว่า เจ้าหน้าที่ของภาครัฐยังสามารถควบคุมดูแลผู้ให้บริการกู้เงินรายย่อยในอินโดนีเซียไม่ให้กระทำอันตรายต่อผู้กู้ยืมเงินด้วย อย่างไรก็ดี KPMG พบว่า ในตอนนี้ยังมีธนาคารไม่กี่แห่งที่ตอบสนองความต้องการได้ (อินโดนีเซียมีธนาคารอยู่เพียง 40,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่กระจายอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ที่มีมากกว่า 13,000 เกาะ)

 

ความท้าทายจากรายงานจาก OJK ก็คืออินโดนีเซียมีประชากรถึง 203 ล้านคน หรือ 81.5% ที่อยู่ในฐานปิระมิดระดับล่าง คนเหล่านี้มีฐานะยากจนและต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตมากเป็นอันดับต้น ๆ การสำรวจยังพบด้วยว่า มีชาวอินโดนีเซียถึง 96 ล้านคนที่มีชีวิตโดยได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินทั่วไป ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเงินเหล่านั้นมาพัฒนาศักยภาพของตนเองมากที่สุดก็ตาม ทำให้เสี่ยงที่จะตกเป็นลูกหนี้ของเงินกู้ดอกเบี้ยสูงมากยิ่งขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ KPMG จึงเผยว่า กลยุทธ์ที่ผู้ให้กู้ยืมเงินรายย่อยใช้ในการเจาะตลาดหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจึงเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์โมบายล์อื่น ๆ สูงมากนั่นเอง

 

ขณะที่ธนาคารไม่ใช่เป้าหมาย เพราะ OJK พบว่า ในปี 2014 มีเพียง 7% ของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไปธนาคารเมื่อต้องการจะกู้ยืมเงิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสครั้งสำคัญของกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ที่จะเข้าไป

 

่ส่วนการมาถึงของไมโครไฟแนนซ์นั้นต้องย้อนหลังไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2013 เมื่อธนาคารกลางอินโดนีเซียได้อนุญาตให้มีการทดสอบโครงการนำร่องเกี่ยวกับการให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นเอเยนท์ให้กับธนาคารได้ในลักษณะของ Branchless Banking หรือแปลเป็นภาษาท้องถิ่นว่า Laku Pandai ซึ่งในช่วงแรกจำกัดเอาไว้กับธนาคาร 5 แห่ง ผู้ให้บริการโทรคมนาคม 3 แห่ง และเมืองที่จะเปิดตัว 8 แห่งเป็นที่แรก

 

ผลตอบรับที่ตามมาปรากฏในเชิงบวก โดยผู้บริหารของธนาคาร Rakyat Indonesia อย่าง Hari Siaga  กล่าวว่า พวกเขามีตัวแทน Laku Pandai แล้วถึง 135,000 คน จากที่เคยมีแค่ 84,500 คนในปี 2016 ส่วนแอปพลิเคชัน BRI ก็มีการทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชันมากถึง 98 ล้านครั้งตลอดปี 2016 เพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2015

 

ความสำเร็จของไมโครไฟแนนซ์ในอินโดนีเซียจึงน่าสนใจและสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนให้กับหลาย ๆ ประเทศได้ อีกทั้งต้องบอกว่าภาครัฐของอินโดนีเซียนั้นประสบความสำเร็จมากในฐานะผู้กำกับทิศทางที่ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์จะก้าวไป และทำให้ไมโครไฟแนนซ์เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้อีกด้วย

ที่มา http://fintechnews.sg/10393/personalfinance/world-can-learn-indonesias-microfinance-scene

Top