ทุกผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าย่อมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแข่งขันทางการตลาด คู่แข่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ผู้บริหารหรือเจ้าของสินค้าต้องรับมือ หากทำสำเร็จ สินค้าก็ยังคงสามารถเติบโตและยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ แต่หากล้มเหลวคงต้องเลือนหายไปจากตลาดอย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับประเทศไทยเรามีสินค้าเก่าแก่อยู่มากมาย แต่แทนที่จะเลือนหายไปกับอดีต หลายแบรนด์สามารถพลิกตัวเองจากสินค้าเก่าแก่ให้กลายเป็นสินค้าที่มีความทันสมัย แบบที่วัยรุ่นยังใช้ได้ เค้ามีเคล็ดลับอย่างไรบ้าง มาดูกัน
ผงหอมศรีจันทร์
แบรนด์สินค้าไทยที่มีอายุเก่าแก่กว่า 68 ปี ผงหอมศรีจันทร์ ถือเป็นสินค้าที่เกือบจะเลือนหายไปจากตลาด แต่ด้วยกับปรับเปลี่ยนทั้งในส่วนของตัวสินค้าและระบบงานภายใน ทำให้ผงหอมศรีจันทร์ ฟื้นคืนชีพและสามารถเพิ่มยอดขายจากปีละ 30 ล้านบาท มาเป็น 350 ล้านบาท
การปรับเปลี่ยนแบบพลิกแบรนด์ของผงหอมศรีจันทร์เกิดแนวคิดของทายาทรุ่นหลาน คือคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ที่มาพร้อมแนวคิดใหม่ๆ และความมุ่งมั่นในการพลิกแบรนด์ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง การพลิกแบรนด์ของคุณวริศ เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่การปรับระบบงานภายใน จากบริษัทที่จดข้อมูลต่างๆ ด้วยมือและกระดาษ ไม่มีแม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปสู่บริษัทที่นำระบบไอทีและซอฟต์แวร์ ERP ระดับโลกอย่าง SAP มาปรับใช้ ทำให้กลายเป็นองค์กรที่ทันสมัยมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เมื่อระบบภายในแข็งแกร่งก็ถึงเวลาในงานด้านการตลาด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักวางแผนกลยุทธ์และการตลาดมืออาชีพ มีการทำ R&D ทั้งในด้านการตลาด การทำวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมถึงทุ่มงบกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยน่าใช้ยิ่งขึ้น
การพลิกแบรนด์ของผงหอมศรีจันทร์ จากสินค้าที่ไม่เข้ากับยุคสมัย ให้ดูทันสมัยน่าใช้และโดนใจกลุ่มเป้าหมายใหม่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญดังกล่าว นอกจากจะสร้างยอดขายและชิงพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดกลับมาได้อย่าสง่างามแล้ว ยังเป็นที่กล่าวขานในวงกว้าง และถือเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่น่าสนใจอีกด้วย
จากอุทัยทิพย์ สู่ Utip
อุทัยทิพย์ ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าแบรนด์ไทยที่มีอายุยาวนานมามากกว่า 120 ปี ซึ่งกลุ่มผู้ใช้ก็มีอายุมากขึ้นตามอายุของแบรนด์สินค้า จนในที่สุด อุทัยทิพย์กลายเป็นแบรนด์สำหรับผู้สูงอายุ แต่แล้วโอกาสก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีดารานักแสดงมีการใช้ยาอุทัยทิพย์ในการเติมสีให้แก้มและริมฝีปาก จนเกิดเป็นกระแสการกล่าวถึงยาอุทัยทิพย์ในวงกว้าง ส่งผลให้แบรนด์อุทัยทิพย์กลับมาเป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตอย่างโอสถสภาก็ไม่พลาดโอกาสทอง ด้วยการเปลี่ยนแพ็กเกจของสินค้าให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวกและใช้ง่ายยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแบรนด์ของอุทัยทิพย์ยังคงจำกัดอยู่แต่ในร้านขายยา ทำให้เสียตลาดแก่สินค้าคู่แข่งที่สามารถวางขายใน 7-11 ได้ก่อนไปพอสมควร
จากบทเรียนครั้งนั้น ต่อมาทีมงานอุทัยทิพย์เรียนรู้จากความผิดพลาด และนำบทเรียนครั้งนั้นมาสร้างแบรนด์ใหม่อย่าง Utip ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น พร้อมทั้งสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการพลิกแบรนด์ที่แสนจะโบราณให้กลายเป็นสินค้าสำหรับวัยรุ่นให้ประสบความสำเร็จได้
เถ้าฮงไถ่ จากโอ่งลายมังกร สู่งานเซรามิกโมเดิร์น
ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ผลิตภัณฑ์ภัณฑ์คู่แข่งอย่างภาชนะพลาสติกที่พัฒนาขึ้น ทำให้สินค้าที่เคยอยู่คู่บ้านของคนไทยอย่างโอ่งลายมังกรกำลังเลือนหายไปจากตลาด
แทนที่จะยอมแพ้ ละทิ้งให้ธุรกิจที่สร้างมาตั้งแต่รุ่นพ่อให้สูญสลายไป คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” ผู้บุกเบิกเครื่องปั้นดินเผาเป็นรายแรกในจังหวัดราชบุรี ตัดสินใจพลิกโฉมธุรกิจ พัฒนาการออกแบบ และใช้ความรู้ด้านเซรามิกที่เรียนมาจากประเทศเยอรมัน มาพัฒนาจากเครื่องใช้ในบ้านให้กลายเป็นสินค้าตกแต่ง ที่มีสไตล์การออกแบบซึ่งผสมผสานกับองค์ความรู้ของบรรพบุรุษเข้ากับแนวคิดทันสมัยของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว
คุณวศินบุรีเคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่า “ผมรู้สึกว่าสิ่งที่อากงและพ่อทำมาตลอดมันยิ่งใหญ่ผมจึงไม่คิดเปลี่ยนสิ่งดีๆ หรือแก่นที่เคยมีมา เพียงแต่ต่อยอดจากของเดิม โดยใส่ไอเดียและดีไซน์ใหม่ๆ เข้าไป เช่น ทำสีสันให้ฉูดฉาด แตกต่างไปจากที่โรงงานเคยทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนเย็น แต่ผมมาปรับให้มีสีสันร่วมสมัย มีให้เลือกเกือบพันเฉดสี ขณะที่รูปทรงประยุกต์ในแบบไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏว่า งานของผมไปโดนใจนักออกแบบตกแต่งโรงแรมและรีสอร์ทยุคใหม่ ทำให้ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะ จากนั้น ผมก็ยึดแนวทางพัฒนาไม่หยุดนิ่งมาตลอด ซึ่งช่วยให้เรามีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
โดยผลิตภัณฑ์ของโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” เกือบทั้งหมดเป็นงานเซรามิกเพื่อการตกแต่ง ตั้งแต่ชิ้นเล็กถึงใหญ่ มีทั้งแนวสมัยใหม่ และแนวย้อนยุค โดยเน้นรับผลิตงานตามออเดอร์ ราคาสินค้าเฉลี่ยจะสูงกว่าท้องตลาด สูงสุดที่เคยทำคือโอ่งสูง 2 เมตร ใบละ 8 หมื่นบาท กลุ่มลูกค้า 70% เป็นตลาดในประเทศ ส่วน 30% ส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น สิ่งที่คุณวศินบุรีทำนั้น ไม่เพียงเป็นการพลิกแบรนด์ของโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” ให้พลิกฟื้นมาอีกครั้งเท่านั้น ยังถือเป็นหนึ่งในการพลิกโฉมของวงการเครื่องเคลือบเซรามิกของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
กรณีศึกษาจากสินค้าไทยทั้ง 3 แบรนด์ แสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่ขวางหน้าทุ่มเทและไม่ย่อท้อ จนสามารถทำสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ในการพัฒนาสินค้าไทยที่แสนโบราณให้พลิกฟื้นกลับมาพร้อมความทันสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก TCDC
You must be logged in to post a comment.