You are here
Home > Top Story > เราเชื่อใจสมาร์ทโฟนได้แค่ไหน

เราเชื่อใจสมาร์ทโฟนได้แค่ไหน

ข่าวเกี่ยวกับฟังก์ชั่นลับของสมาร์ทโฟนที่แอบส่งข้อมูลบางอย่างของเราให้บริษัทผู้ผลิต ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ปัจจุบันเราจะวางใจกับการใช้สมาร์ทโฟนที่ถืออยู่ในมือได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าสูงลิบลิ่ว เริ่มเผชิญกับปัญหาด้านความโปร่งใสเข้าให้แล้ว

ความเสี่ยงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงช่องโหว่ที่อาจถูกแฮกเกอร์เจาะเอาในวันใดวันหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องแบบนั้นเลย แต่เป็นความท้าทายใหม่ที่เพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้นั่นคือการตัดสินใจของบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ต้องการให้สมาร์ทโฟนทำบางอย่างลับหลังเรา โดยที่เราไม่รู้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นก็มีโอกาสทำให้การใช้งานอย่างปลอดภัยลดลง

shutterstock_330353657-2

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมาจากการจับได้ว่า บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟน อย่าง Google Apple และ OnePlus  สั่งให้สมาร์ทโฟนของตนเองกระทำการบางอย่างโดยไม่บอกผู้ใช้งาน ซึ่งการกระทำเหล่านั้นทำให้ตัวเครื่องเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยได้

โดยบริษัทผู้ผลิตให้เหตุผลว่า ตัดสินใจทำสิ่งเหล่านั้นไปเพราะต้องกาารปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของสมาร์ทโฟน บ้างก็บอกว่าต้องการให้มันใช้งานง่ายขึ้น แต่การสั่งให้สมาร์ทโฟนลงมือทำโดยที่ไม่แจ้งต่อผู้ใช้งานก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเสียความรู้สึกกันไม่น้อย

เว็บไซต์ Quartz รายงานว่า ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา อุปกรณ์แอนดรอยด์ มีการส่งข้อมูลสถานที่ของผู้ใช้งานกลับไปยัง  Google ตลอด แม้ว่าสัญลักษณ์โลเคชั่นจะปิดอยู่ หรือจะไม่มีการใช้งานแอปพลิเคชันใด ๆ รวมถึงต่อให้ตัวเครื่องไม่มีซิมการ์ดก็ตาม ซึ่งการส่งข้อมูลนี้ อ้างอิงจากเสาสัญญาณหรือที่เรียกว่า Cell ID

ด้าน Google ออกมายอมรับว่ามีการส่งข้อมูลดังกล่าวจริง แต่การใช้ข้อมูล Cell ID นั้นเป็นไปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความเร็วในการส่งข้อความ นอกจากนี้ Google ไม่เคยนำข้อมูลนี้ไปใช้ หรือเก็บข้อมูลไว้เพื่อการโฆษณา หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นแต่อย่างใด

เมื่อถูกจับได้ Google ระบุว่า มีแผนจะยุติฟังก์ชันด้านโลเคชันนี้ในเดือนหน้า เพื่อยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งการยุติการทำงานนี้ไม่จำเป็นต้องมีการออกแพทช์ หรือต้องให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เพิ่มเติมแต่อย่างใดด้วย

ด้าน iOS ก็ไม่น้อยหน้า โดยปัญหาของ iOS เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งค่าเชื่อมต่อไวไฟ และบลูทูธ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้งานต้องเข้าไปใน Setting เพื่อเปิดหรือปิดการทำงานดังกล่าวการสั่งปิดไวไฟ และบลูทูธผ่าน Setting นั้นตัวเครื่องจะตัดการเชื่อมต่อทุกเครือข่ายที่เป็นไปได้ออกจากตัวเครื่อง รอจนกว่าผู้ใช้งานกลับมาเปิดใหม่ จึงจะเชื่อมต่ออีกครั้ง

แต่หลังจากเปลี่ยนเข้าสู่ iOS 7 เป็นต้นมา แอปเปิลได้มีการใช้งาน Control Center ศูนย์ควบคุมที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอ ต้องใช้นิ้วเลื่อนขึ้นมา ใน Control Center นี้จะมีปุ่มท็อกเกิลให้เลือกเปิดหรือปิดไวไฟ – บลูทูธ รวมถึงฟังก์ชันการทำงานอื่น ๆ

ผู้ใช้งานหลายคนจึงหันมาใช้ปุ่มควบคุม ณ จุดนี้กันเพราะมันสะดวกกว่าการเข้าไปใน Setting เป็นไหน ๆ แต่ปัญหาก็คือ เมื่อผู้ใช้งานสั่งให้ Control Center ตัดการเชื่อมต่อโทรศัพท์จากเครือข่ายไวไฟ หรืออุปกรณ์บลูทูธไปนั้น แท้จริงแล้ว ตัวเครื่องไม่ได้ปิดสัญญาณไวไฟ หรือบลูทูธแต่อย่างใด

โดยใน iOS11 แม้ผู้ใช้งานจะสั่งปิดไวไฟ และบลูทูธไปแล้ว แต่ถ้าตัวเครื่องเจอฮอตสปอต หรืออุปกรณ์ที่เปิดบลูทูธอยู่ในระยะ มันจะเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้น หากมีการรีสตาร์ทตัวเครื่อง หรือถึงเวลา 5.00 น. ของทุกเช้า สมาร์ทโฟนจะรีคอนเน็คตัวเองเข้ากับเครือข่ายไวไฟ หรือบลูทูธให้เองโดยที่ไม่ต้องร้องขอ นั่นเท่ากับว่า การสั่งปิดไวไฟ หรือบลูทูธจาก Control Center นั้นเป็นการทำหลอกเอาไว้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ถ้าอยากปิดจริง ๆ ต้องเข้าไปใน Setting เท่านั้น

โดยแอปเปิลชี้แจงถึงความแตกต่างระหว่างการสั่งผ่าน Control Center กับ Setting เอาไว้เช่นกัน แต่อยู่ในหน้า Help ที่แอปเปิลเองก็รู้ดีว่ามีผู้ใช้งานน้อยคนที่จะเข้ามาอ่าน อย่างไรก็ดี Apple ไม่มีการออกมาชี้แจงใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

สุดท้ายกับค่าย OnePlus ที่มีการพบว่า ตัวเครื่องมีการติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงรูทของตัวเครื่องได้ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ถูกเรียกว่า EngineerMode

สำหรับวิธีการเปิดทำงาน EngineerMode นั้นทำได้สามทาง นั่นคือ สั่งผ่าน dialer command, สั่งผ่าน Activity launcher หรือสั่งผ่าน command line

อย่างไรก็ดี การจะเข้าถึงได้ต้องมีพาสเวิร์ด โชคร้ายที่พาสเวิร์ดที่กำหนดมานั้นถูกเดาทางได้ง่าย เลยมีการเจาะพาสเวิร์ดเข้าไปได้ และแชร์พาสเวิร์ดนั้นสู่โลกออนไลน์

ด้าน OnePlus ออกมาบอกว่า บริษัทไม่มองว่านี่เป็นประเด็นด้านซีเคียวริตี้ที่ต้องให้ความสำคัญมากนัก แต่เพื่อความสบายใจ ทางบริษัทจะทำการลบแอปพลิเคชันตัวนี้ออกไปในการอัปเดทซอฟต์แวร์รอบหน้า

ทั้งนี้ EngineerMode นั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นแอปพลิเคชันควอลคอมม์เวอร์ชันที่โมดิฟายด์มา และมีหลักฐานบางอย่างชี้ว่า สมาร์ทโฟนยี่ห้อ Asus และ Xiaomi ก็น่าจะมีแอปพลิเคชันตัวนี้แฝงอยู่ด้วย

ส่วนที่ทาง OnePlus ไม่นำแอปพลิเคชันตัวนี้ออกนั้น มีการคาดการณ์กันว่าอาจเป็นเพราะบริษัทต้องการเร่งการผลิต จึงไม่อยากเสียเวลามานั่งถอดโปรแกรมออกจากโทรศัพท์ทีละเครื่อง ๆ นั่นเอง

จะเห็นได้ว่ามีความเสี่ยงปรากฏอยู่ทั่วไป และเมื่อเกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหล น้อยครั้งที่บริษัทผู้ผลิตจะโทษตัวเองก่อน โดยมากแล้วต่างพุ่งมาที่การใช้งานของผู้บริโภคก่อนทั้งสิ้น

ดังนั้น ในทุกกรณี การจะบอกว่า “จงเชื่อใจฉันเถอะ ฉันเป็นผู้ผลิตนะ ฉันบอกว่าควรมีก็ควรมีเถอะ ผู้ใช้งานจะไปรู้อะไร หรือจะต้องมีข้อมูลว่าแอปพลิเคชันนี้มีไปทำไมด้วยหรือ” ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่จริงใจเลย

ยิ่งถ้าไม่ได้นักวิจัยออกมาเปิดโปงด้วยแล้ว ก็ถือว่ายากที่ผู้บริโภคจะได้รู้ความจริงจากปากบริษัทผู้ผลิตเอง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ไม่น่าไว้ใจ เพราะแค่การให้เกียรติลูกค้าที่ซื้อตัวเครื่องไปใช้งาน ด้วยการบอกข้อมูลของตัวเครื่อง บริษัทเหล่านี้ยังไม่สามารถให้ได้เลย

ส่วนในฟากผู้ผลิต สัญญาณเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่า บริษัทจะต้องทำงานให้หนักขึ้น ในแง่ของความโปร่งใส เพื่อที่ว่าผู้บริโภคที่ซื้อสมาร์ทโฟนไปนั้นจะไม่ต้องกังวลใจกับการใช้งานอีกนั่นเอง

 

 

Top