ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เคยแถลงข่าวสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ในการนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ในข้อกฎหมายของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการชักชวนซื้อ – ขาย สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่มีการดำเนินการ กันอยู่ในขณะนี้ จึงขอชี้แจงดังนี้
1. ปัจจุบัน “สกุลเงินดิจิทัล” อาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้และมีมูลค่าดังเช่นสกุลเงินสกุลหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin เป็นต้น เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ซึ่งปรากฏตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557
2. มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเกิดจากอุปสงค์และอุปทานของตัวมันเองที่ทำให้มูลค่าของมันเพิ่มขึ้น หรือลดลงโดยที่ตัวมันเองไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับในการสร้างรายได้เพื่อการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน
3. มูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เป็นแรงจูงใจทำให้ประชาชนสนใจ ที่จะซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เพราะคิดว่ามีผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลให้มีการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น
4. ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ ได้วางหลักข้อกฎหมายว่า ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยโฆษณา หรือประกาศเชิญชวนให้ลงทุนใด ๆ ที่มีพฤติกรรมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูง โดยไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับ อาจมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ทั้งนี้ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin Ethereum Litecoin เป็นต้น มาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งสำหรับการใช้จ่ายตามร้านค้าทั่วไป รวมไปถึงการชักชวนให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าว จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยแก่ประชาชนว่าเงินดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแก่ประชาชนให้ถูกต้อง โดยให้เน้นย้ำถึงข้อควรระวังและความเสี่ยงในการลงทุนเงินสกุลดังกล่าวให้ชัดเจน
และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 กระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับดูแลอันได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้
- ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของสกุลเงินดิจิทัล (Blockchain) มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการเงินและสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ยังไม่ยอมรับเงินสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
- ปัจจุบันมูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลมีความผันผวนมากเกิดจากความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก จนอาจไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และบางกรณีมีลักษณะเก็งกำไรสูง ดังนั้น ผู้ที่ถือเงินสกุลดิจิทัลจึงมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงได้ด้วย ผู้ลงทุนจึงควรตระหนักว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
- ประชาชนควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงก่อนตัดสินใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเนื่องจากอาจมีผู้มีเจตนาทุจริตมีพฤติกรรมหลอกลวงเงินจากประชาชนโดยอ้างถึงการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลและจูงใจด้วยผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ เช่นเดียวกับกรณีแชร์ลูกโซ่ โดยอาจสังเกตเบื้องต้นจากวิธีการชักจูงด้วยการเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง การกดดันให้ต้องรีบตัดสินใจลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย
- ในบางกรณี การทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดิจิทัลอาจไม่ได้ผ่านการระบุตัวตนหรือการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินอย่างครบถ้วนจึงอาจเป็นช่องทางให้ผู้มีเจตนาทุจริตใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงินประชาชน เป็นต้น ประชาชนจึงอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวโดยไม่ได้รู้เห็นมาก่อน
- หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการติดตามพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงาน กลต. และ ปปง. เพื่อพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างเหมาะสมต่อไป
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 169 7127 ต่อ 160
หรือศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สายด่วน 1359 กด 1
You must be logged in to post a comment.