
ในประเทศไทย คริปโตเคอเรนซียังไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ ผู้ทำธุรกรรมอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงินในกรณีถูกหลอกลวง หรือเกิดปัญหาในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ การใช้คริปโตเคอเรนซีอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมายได้ เช่น การฟอกเงิน หรือการสนับสนุนการก่อการร้าย ประกอบกับการทำธุรกรรมดังกล่าว เป็นการทำผ่านระบบเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของระบบเป็นสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริปโตเคอเรนซีที่ไม่สามารถระบุผู้ออกได้อย่างชัดเจน หรือไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่า หรือไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง ธปท.จึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่งไม่ให้ทำธุรกรรมหรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี ในกรณีดังต่อไปนี้
1. การเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในคริปโตเคอเรนซีเพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเอง หรือผลประโยชน์ของลูกค้า
2. การให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน
3. การสร้างแพลตฟอร์ม (platform) เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีระหว่างกัน
4. การให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อคริปโตเคอเรนซี
5. การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี
นอกจากนี้ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังการให้บริการด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชี หรือการใช้บัญชีที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี โดยขอให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในเรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer : KYC) และดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD) อย่างเคร่งครัด ตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ทางการอาจกำหนดเพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้การทำธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย