You are here
Home > Top Story > ค้นประวัติศาสตร์ “เงินตรา” สมัยอยุธยา จากละคร “บุพเพสันนิวาส”

ค้นประวัติศาสตร์ “เงินตรา” สมัยอยุธยา จากละคร “บุพเพสันนิวาส”

แม้ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะลาจอไปแล้ว แต่ละครเรื่องนี้ก็ยังคงติดตราอยู่ในใจ และสร้างกระแสให้คนไทยหวนกลับมาสนใจประวัตศาสตร์ของเราอีกครั้ง สิ่งที่ทีมงาน Thai FinTech จะหยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “เงินตรา” สมัยอยุธยาที่ปรากฏอยู่ในละครเรื่องนี้ โดยทีมงานขออนุญาติหยิบยกเอาเนื้อหาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร BOT พระสยาม Magazine ฉบับล่าสุดมานำเสนอ

15229833478
BECi Corporation Limited – Mello.me

 

bup005
BECi Corporation Limited – Mello.me

เนื้อหาระบุไว้ว่า มีอยู่ฉากหนึ่งที่แม่หญิงการะเกด ได้นำเงินให้พี่ผินและพี่แย้มไปซื้อมุ้งมาให้บ่าวรับใช้ในบ้านทุกคนใช้ เพื่อป้องกันโรคไข้มาลาเรียที่กำลังระบาด และฉากสินสอดในงานแต่งงานของแม่การะเกดกับพี่หมื่น ทำให้ผู้ที่ชมละครทุกท่านได้มีโอกาสเห็นการใช้เงินในช่วงกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลองมาดูกันว่าประวัติศาสตร์เงินตราในสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร มีแบบไหนบ้างและเรียกว่าอะไร

 

จากข้อมูลในบันทึก “จดหมายเหตุลาลูแบร์” และบันทึกของชาวต่างชาติรายอื่น อาทิ บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บาทหลวงกี ตาชาร์ด และนิโกลาส์ แชรแวส ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีเงินตราที่ใช้กันอยู่หลายประเภท ที่เป็นเงินตราของไทยได้แก่ เงินพดด้วง และเบี้ย

 

  • เงินพดด้วง

เงินพดด้วง ทำขึ้นจากแท่งเงินที่หลอมให้มีทรงคล้ายเม็ดขนุน ทุบปลายงอเข้าหากัน มีลักษณะขดกลมคล้ายตัวด้วง ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า “Bullet Coin” เงินพดด้วงจัดเป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง เพราะกำหนดมูลค่าจากน้ำหนักของเงินที่ใช้ผลิต จึงมักใช้ในหมู่พ่อค้าและขุนนางมากกว่าที่ชาวบ้านจะใช้กัน แบ่งได้หลายชนิดราคา เช่น บาท สลึง เฟื้อง และไพ เป็นต้น

bup001

bup000

เงินพดด้วง ถือเป็นเงินที่แสดงเอกลักษณ์ประจำชาติไทย เพราะมีลักษณะไม่เหมือนเงินชาติอื่น การผลิตถูกผูกขาดโดยรัฐ มีการประทับตรา “ธรรมจักร” ที่ด้านบนของเงินพดด้วง ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดิน ส่วนด้านหน้ามีการประทับตราที่เชื่อว่าเป็นตราประจำรัชกาล มีรูปร่างแตกต่างกันไปตามรัชสมัย เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นตรา “พุ่มข้าวบิณฑ์” ลาลูแบร์ได้กล่าวถึงตราประทับทั้งสองบนเงินพดด้วงนี้ว่า “ไม่ทราบว่าเป็นรูปอะไรและไม่มีใครสามารถอธิบายให้เราทราบได้” ปัจจุบัน มีการค้นพบตราประจำรัชกาลในพดด้วงอยุธยาราว 10 ตรา ขณะที่สมัยอยุธยามีกษัตริย์ 33 พระองค์

 

  • เบี้ย

เบี้ย คือ เปลือกหอยเล็กๆ มีลักษณะเป็นมันวาว พบในทะเลเขตอบอุ่น เคยนิยมใช้เป็นเงินในจีน อินเดีย ยุโรป และแอฟริกา โดยในสมัยอยุธยา พ่อค้าชาวต่างชาติเป็นผู้นำมาจากแถบหมู่เกาะมัลดีฟส์ เบี้ยเป็นเงินที่มีมูลค่าต่ำ ชาวบ้านจึงใช้ในการจับจ่ายใช้สอยอย่างแพร่หลาย เบี้ยที่นำมาใช้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันส่วนมากคือ เบี้ยจั่นและเบี้ยนาง

bup002

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงินสมัยอยุธยาอีกชนิดที่เรียกว่า “เหรียญดอกไม้อยุธยา” ทำขึ้นจากการหล่อดีบุกผสมตะกั่วซึ่งสันนิษฐานว่าได้ถูกนำมาใช้เมื่อหอยเบี้ยขาดแคลนในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นสมัยหลังสมเด็จพระนารายณ์กว่า 40 ปี

bup004

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเงินโบราณของจริงในสมัยต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์เงินตราได้ที่ พิพิธภัณฑ์เงินตรา ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดให้บริการวันจันทร์และวันหยุดธนาคาร) โดยจัดแสดงวันละ 6 รอบ รอบละไม่เกิน 40 ท่าน คือ รอบเช้าเวลา 09.30 น. 10.00 น. และ 10.30 น. รอบบ่ายเวลา 13.30 น. 14.00 น. และ 14.30 น. โดยสามารถจองเวลาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.botlc.or.th)

 

ข้อมูล

ธนาคารแห่งประเทศไทย

BECi Corporation Limited – Mello.me

Top