Big Data สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในธุรกิจที่น่าจะได้ประโยชน์อย่างมากคือ ธุรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce นั่นเองครับ เราขอยกตัวอย่างให้เพื่อนๆเห็นภาพใน 4 เรื่องได้แก่
1. การคาดการณ์กระแสความนิยม ผู้ประกอบการสามารถจับตา Big Data ด้านการค้นหาข้อมูลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเข้า Website ต่างๆ การ Search บน Google เพื่อที่จะดูว่าตอนนี้เพื่อนๆสนใจสินค้าหรือเรื่องราวอะไรอยู่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีไอเดียพัฒนาสินค้ายอดนิยมออกมาได้ นอกจากนี้ บริษัทที่พัฒนาสินค้าใหม่ออกมาขายแล้ว ยังสามารถติดตามบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าของตนในช่องทางสาธารณะบนอินเตอร์เน็ตได้ ว่ามีการตอบรับดี/ไม่ดี เช่นไร ซึ่งทางบริษัทจะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงสินค้าให้ตอบสนองความต้องการตลาดได้มากยิ่งขึ้น เช่น ตอนที่ iPhone รุ่นก่อนออกมาแล้วมีกระแสว่าสีด้านหลังเครื่องไม่สวย ซึ่งการที่ทาง Apple เปลี่ยนสีในรุ่นต่อมาก็คงมีส่วนมาจากการใช้ Big Data เช่นนี้ครับ
2. การตั้งราคาอย่างมีประสิทธิภาพ ทางบริษัท McKinsey ได้ประเมินว่าโดยเฉลี่ย หากบริษัทสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ 1% โดยคงจำนวนยอดขายไว้ได้ บริษัทจะสามารถเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานได้ 8.7% แต่ในขณะเดียวกัน McKinsey ก็ยังพบอีกด้วยว่าโดยเฉลี่ยสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย จากการตัดสินใจตั้งราคาทั้งหมดในหนึ่งปี จะมีถึง 30% ที่บริษัทตัดสินใจพลาด หรือไม่ได้ตั้งราคาที่ดีที่สุดนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างมากจากมุมมองของผู้ประกอบการ การวิเคราะห์ Big Data ในเชิง Real-Time Data ที่ทำให้เห็นข้อมูลการใช้จ่ายซื้อสินค้าของลูกค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการจับตาการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์เพื่อลดการตัดสินในพลาดในลักษณะดังกล่าว และตั้งราคาที่จะทำกำไรให้บริษัทได้มากที่สุดครับ
3. การคาดคะเนความต้องการสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำได้จากการเก็บและวิเคราะห์ Big Data ในเชิงข้อมูลย้อนหลัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการบริหารสินค้าคงคลังและวางแผนกระจายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาสินค้าขาดตลาดมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง รวมถึงวางแนวทางส่งมอบสินค้าไปสู่มือลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้น
4. การสร้างประสบการณ์เจาะจงสำหรับลูกค้า บริษัทสามารถใช้ Big Data หลายด้านรวมกันเพื่อตั้งค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดสินค้าที่แสดงในหน้าแรกหรือหน้าต่างของ Website ตามความชอบของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะส่งเสริมการใช้จ่ายและความจงรักภักดีของลูกค้า หรือความผูกพันต่อสินค้าของเรา (Customer Loyalty) ได้
ที่พูดไปดูเหมือนจะเป็นการเน้นประโยชน์จากมุมมองของผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่จริงๆแล้วในหลายกรณีการที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้นก็จะส่งผลประโยชน์ให้แก่ฝั่งผู้บริโภคเช่นกัน เช่น ทำให้เพื่อนๆได้สินค้าตามที่ตัวเองต้องการ และไม่ต้องเจอปัญหาสินค้าขาดตลาดครับ ทั้งหมดนี้ก็คงทำให้เพื่อนๆได้พอเห็นแล้วนะครับ ว่า Big Data สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบการ E-Commerce ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งช่วยให้โลกการค้าออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
You must be logged in to post a comment.