หลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด กฎหมายเงินดิจิทัล หรือ พระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก็ได้รับการประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว

พรก. นี้ มีการให้คำจำกัดความสิ่งที่เกี่ยวของกับ“สินทรัพย์ดิจิทัล” อันได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลไว้ดังนี้
“คริปโทเคอร์เรนซี”
หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
“โทเคนดิจิทัล”
หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1 กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
2 กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
การเสนอขายโทเคนดิจิทัล
ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน ผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้กระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
คำจำกัดความของ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”
พร้อมกันนี้ยังมีการให้คำจำกัดความของ “ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” ไว้อย่างชัดเจน โดยหมายถึง การประกอบธุรกิจตามประเภทดังต่อไปนี้
1 ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงศูนย์กลางหรือเครือข่ายในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
2 นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่นโดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
3 ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล
บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่รวมถึงการให้บริการในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
4 กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
นอกจากนี้ ยังมีการให้คำจำกัดความของ “ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองลักษณะของโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขายคุณสมบัติของผู้ออก และความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลอื่นใดที่เปิดเผยผ่านผู้ให้บริการดังกล่าว
สำหรับ พรก. ฉบับเต็ม นั้นสามารถดาวน์โหลดได้ที่ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/43.PDF
นอกจากนี้ ยังมีการออกกฏหมายอีกหนึ่งฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19)
พ.ศ. 2561
โดยกำหนดเพิ่มเติมประเภทของเงินได้พึงประเมินไปในมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทย่อย ได้แก่
- เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
- ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน 2 ประเภทดังกล่าวข้างต้นหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ดังกล่าว
(แก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 40 (2) (ฉ) ของประมวลรัษฎากร)
รายละเอียดใน พรก. ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าว
เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน
ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
สามารถดาวน์โหลด พรก. ฉบับเต็มได้ที่ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/71.PDF
กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
You must be logged in to post a comment.