หนึ่งในเรื่องที่ร้อนแรงที่สุดในวงการธนาคารของปีที่ผ่านมา (แต่จะเริ่มใช้ปีนี้) นอกจาก QR code payment แล้วก็น่าจะเป็นเรื่อง E-KYC ครับ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อธนาคารเป็นอย่างมาก มากแค่ไหนก็คิดง่ายๆว่า มันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC-Know your customer) จสกเดิมที่ต้องมาเจอหน้ากันที่สาขา กรอกแบบฟอร์ม และลงลายมือชื่อ จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนกระบวนการ การทำงานที่เคยทำกันมา 30-40 ปี เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปรับทั้งระบบและปรับคน แต่ก็สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลในระยะยาวแน่นอน ผมจะเล่าแบบง่ายๆใน 3 ด้านคือ (1) มันคืออะไร (2) มันมีประโยชน์อะไร และ (3) มันเกี่ยวกับเรายังไง นะครับ
1) มันคืออะไร?
ตรงตัวเลยครับ การเติม “E – Electronic” ข้างหน้า “KYC – Know your customer” ก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดดังนี้
1. แบบฟอร์มและเอกสาร เปลี่ยนเป็น E-Application & E-Document
2. การพบหน้าแบบ Face to Face เปลี่ยนเป็น Biometric Authentication
3. การลงลายมือชื่อ เปลี่ยนเป็น E-Signature
4. การตรวจสอบตัวตน เปลี่ยนเป็น E-Verification
ทั้ง 4 รูปแบบที่เปลี่ยนไป 3E กับ 1B จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกรรมเปิดบัญชีประเภทต่างๆกับธนาคารโดยแต่ละธนาคารจะทยอยให้บริการภายในไตรมาสที่ 1 นี้แน่นอนครับ
ข้อสำคัญอีกประการคือหลังจากประชาชนทำ E-KYC กับธนาคารแล้ว จะได้รับ Digital Identity เพื่อใช้งานในอนาคตผ่าน Mobile Banking โดยจากเดิมที่เราใช้แอพธนาคารด้วย PIN ธนาคารก็จะเพิ่ม Facial Recognition เข้าไปเพิ่ม ให้ปลอดภัยมากขึ้น
ซึ่งผมจะพูดถึงประโยชน์ของ Digital Identity ต่อไปครับ

2) แล้วมันดียังไง?
ต่อภาครัฐ: ถึงแม้ในช่วงแรกการทำ E-KYC จะเป็นการทำเพื่อธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่มาตรฐานการทำ E-KYC นี้ เป็นมาตรที่ออกร่วมกันโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารและ ETDA เพราะฉะนั้นการเริ่มโดยกลุ่มธนาคารจะเป็นการวางรากฐานของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ยืนยันตัวตน (Digital Identity) ของประเทศได้ต่อไปครับ เพื่อให้เห็นภาพ ลองนึกตามครับว่า ถ้าต่อไปเราสามารถต่อบัตรประจำตัวประชาชน ต่อทะเบียนบ้าน ต่อทะเบียนรถ ชำระภาษี ขอรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ได้โดยใช้เพียง Digital Identity ที่เรามีอยู่ไปกรอกในเวบไซต์ของรัฐ ก็สามารถดำเนินการได้ที่บ้าน แค่คิดว่าคนหลายสิบล้านคน ไม่ต้องออกจากบ้าน นั่งรถให้เปลืองน้ำมัน ไปต่อคิวที่ที่ทำการฯ ก็สามารถสร้างประสิทธิภาพของประเทศได้แค่ไหน ตัวอย่างของ Gov.uk ที่อังกฤษทำโครงการนี้สำเร็จไป เค้าสามารถประหยัดเงินรัฐได้ถึงปีละ 3.3 พันล้านปอนด์ต่อปี
ต่อประชาชน: ต่อไปเราสามารถมีตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identity) ผ่าน Mobile Banking ของธนาคาร (หรือองค์กรอื่นๆในอนาคตที่มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่า) และสามารถ Mobile Banking App ยืนยันตัวตนของเราได้ทันที ตัวอย่างเช่น ผมต้องการยืนยันตัวตนเพื่อขอเปิดซิมการ์ดโทรศัพท์ ผมแจ้งค่ายมือถือเค้าจะส่ง Push notification มายังแอพของธนาคารที่ผมใช้อยู่ และผมเพียงกดยืนยันด้วย PIN และ/หรือ Facial Recognition (เอาง่ายๆคือคล้าย FaceID ของ Apple แต่ทำโดยธนาคาร) ทางค่ายมือถือก็จะได้รับข้อมูลทันที (เท่าที่จำเป็น) โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องให้บัตรประชาชนไปสำเนาหรือกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มใดๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวง่ายๆนะครับ แต่ผมเชื่อว่าในอีก 2-3ปี ข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแน่นอน

3) มันเกี่ยวกับเรายังไง?
อันนี้ผมขอเขียนในมุมมองส่วนตัวนะครับ เพื่อประโยชน์ของเพื่อนๆพี่ๆน้อฃๆหลากหลายอาชีพ
อย่างแรก ลองคิดดูครับว่าถ้าทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด กระดาษจะหายไปไหนครับ คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพิมพ์สารพัดแบบฟอร์มคงต้องคิดดีๆ
ต่อมา จะเกิดการจัดเก็บข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างมหาศาล Big data ของแท้นี่ละครับกำลังจะเกิด ใครที่ไม่อยากจะแชร์ข้อมูลอะไร เพราะไม่ขาวสะอาด มีเวลาปรับตัวในช่วง 2-3ปีนี้นะครับ 😂

เรากำลังจะเดินเข้าสู่ยุค Biometric/ Digital Identity กันแล้ว แปลว่า Your face is your ID ครับ มองได้สองมุม มุมนึงคือปลอดภัยสูงขึ้นและสะดวกสูงขึ้น ข้อมูลที่เชื่อมต่อกันหมดจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นและเร็วขึ้น เช่นต่อไปอาจจะใช้หน้าทำธุรกรรมแทนลายเซ็นต์ แต่อีกมุมคนที่กลัวเรื่อง Privacy ก็คงจะลำบากหน่อย เพราะข้อมูลของเรามันจะเชื่อมกันหมด ตัวตนเป็นตัวตนหนึ่งเดียว เบอร์บัญชี เบอร์มือถือ เลขบัตรประชาชน พาสปอร์ต บ้าน รถ หนี้สิน ข้อมูลอื่นๆจะเชื่อมต่อกันหมด
รายละเอียดปลีกย่อยของเรื่องนี้ยังมีอีกมากครับ และมาตรฐานของ National Digital ID ที่เป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับ E-KYC นี้ก็ยังมีรายละเอียดอีกมาก ถ้าผมเล่าในคราวเดียวกันคงจะยาวไป
ขอบคุณนะครับที่อ่านกันจนจบ คราวหน้าจะมาเล่าเรื่อง National Digital ID ต่อครับว่าคืออะไร ใช้งานยังไง เกี่ยวอะไรกับเรา…
บทความโดย : คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ Head of Consumer Digital Solutions ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
You must be logged in to post a comment.