ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงาน EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ตลาดบิ๊กดาต้าในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านบาท โดยเติบโตมากกว่าเท่าตัวทุกปี และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 1.32 หมื่นล้านบาทภายในปี 2022 สะท้อนถึงจำนวนข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้น โดยองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะนำไปใช้ต่อยอดในด้านต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรก็ต้องเผชิญกับความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 จะเป็นข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง หรือข้อมูลที่ไม่ได้ทำการจัดระเบียบและวางแผนให้จัดเก็บได้ง่าย หรือเป็นข้อมูลที่มีความพร้อมในการนำไปวิเคราะห์หรือใช้งานได้เลย และในอนาคตข้อมูลในกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเติบโตและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความยุ่งยากในการทำงานและจัดเก็บข้อมูลก็จะยิ่งมากขึ้นเช่นกัน
การใช้บิ๊กดาต้าในไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น
แม้องค์กรในประเทศไทยจะเริ่มตื่นตัวในการนำบิ๊กดาต้าไปเป็นเครื่องมือในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่หากดูความสามารถในการนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ ยังมีไม่ถึงร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 40 จะเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นนำไปทดลองใช้เป็นโครงการนำร่อง และอีกกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่ได้เริ่มนำเอาบิ๊กดาต้าไปใช้ประโยชน์ ทั้งกลุ่มที่ยังไม่มีแผนจะนำมาใช้ กลุ่มที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ หรืออยู่ในช่วงของการวางแผนว่าจะนำบิ๊กดาต้ามาสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ในรูปแบบไหนบ้าง
เราลองมาดูตัวอย่างขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยที่ถือเป็นแนวหน้าในการนำเอาบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์กับงานในรูปแบบต่างๆ กัน
DGA เป็นหน่วยงานหัวหอกในการผลักดันให้รัฐบาล และหน่วยงานราชการไทยก้าวสู่การดำเนินงานและให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์กับภาครัฐอย่างจริงจัง
DGA ได้ดำเนินโครงการด้านบิ๊กดาต้าของภาครัฐเป็นแห่งแรก โดยเลือกเอาข้อมูลการจราจรของกรมทางหลวงมาเป็นต้นแบบ และมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้างต้นแบบบิ๊กดาต้าระหว่าง DGA กับ NECTEC และกรมทางหลวง ถือเป็นครั้งแรกของหน่วยงานภาครัฐที่มีการนำเอาบริการบิ๊กดาต้ามาใช้ ซึ่งผลจากการนำบิ๊กดาต้ามาใช้งาน
ก็ทำให้กรมทางหลวงสามารถวิเคราะห์และรายงานสภาพการจราจรแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันแบบที่เกิดขึ้นตามเวลาจริง (เรียลไทม์) ให้ประชาชนรับรู้ได้ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวของการจราจร ทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นกว่าในอดีต โครงการนี้จึงเป็นต้นแบบที่พิสูจน์ให้เป็นถึงความเป็นไปได้ในการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
DGA ได้คัดเลือกสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบ 3 รูปแบบ คือ System Architecture สำหรับการประมวลผลแบบแบทช์ อินเทอร์แอ็กทีฟ และเรียลไทม์ โดยทาง DGA ได้นำทั้ง 3 รูปแบบไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนา Goverment Big Data as a Service เพื่อให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับใช้ในหน่วยงานภาครัฐต่อไป โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาต้นแบบ และกำหนดรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับ Goverment Big Data as a Service แล้ว
เมื่อมีการติดตั้งระบบแล้วเสร็จ หน่วยงานภาครัฐทั่วไปที่มีการใช้งานระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สามารถออนไลน์เข้าใช้บริการได้ ภายใต้เงื่อนไขการใช้งาน และดำเนินงานแบบเดียวกับการใช้บริการงาน G-Cloud ซึ่งจะส่งผลให้สามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้ทั้งในส่วนของข้อมูลภายในหน่วยงานของตนเอง หรือวิเคราะห์ โดยการผสมผสานข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาได้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการของข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและช่วยให้การตัดสินใจมีความแม่นยำมากขึ้น
ภาคเอกชนเดินหน้าโครงการบิ๊กดาต้า
ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า แต่ดูเหมือนภาคเอกชนจะก้าวนำไปข้างหน้าก่อนหลายก้าว โดยธุรกิจรายใหญ่หลายแห่งได้เริ่มโครงการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจกันแล้ว
ตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ถือเป็นบริษัทพลังงานรายแรกของไทยที่นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่มาเสริมศักยภาพในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างรวดเร็ว รอบด้าน เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า โดย ปตท. ได้ร่วมมือกับบริษัท เทราดาต้าพัฒนาแผนงานระยะยาวและเสริมสร้างความพร้อมทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงศักยภาพของบุคลากรมาตั้งแต่ปี 2558 และตั้งเป้าว่าจะเริ่มใช้งานได้จริงเต็มประสิทธิภาพในปี 2562 นี้
การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นจะช่วยจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค ช่วยให้การวางแผนธุรกิจของ ปตท. ทั้งหมดอยู่บนฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในทุกมิติได้ ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมความแข็งแรงทางการตลาดให้ ปตท. สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแล้ว ยังช่วยเติมเต็ม และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานภายในการบริการต้นทุนได้ตลอดทั้งกระบวนการ
ในขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพก็มีการนำเอาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการดูแลลูกค้า และบริหารจัดการโรงพยาบาล ทำให้ลูกค้าและผู้ป่วยได้รับบริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของสุขภาพ และวางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการฟื้นฟูหลังการรักษา สำหรับในส่วนของการบริหาร ทำให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน หรือการเตรียมบุคลากรในด้านต่างๆ และสร้างบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น
เช่นเดียวกับ CAT ในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้พัฒนาบริการด้าน Big Data ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอแนวทางนำมาประยุกต์ใช้งานกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้อง CCTV วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รวมถึงการนำไปใช้กับ Smart Tourism Safety Support and Management เพื่อผลักดันให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้มีความทันสมัย สะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นผ่านบริการ LoRa IoT by CAT บนโครงข่ายการสื่อสารไร้สาย LoRaWAN (Long Range Wide Area Network)
แม้ว่าโครงการบิ๊กดาต้าส่วนใหญ่ในไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้จริง และในอนาคตเราจะพัฒนาโครงการบิ๊กดาต้าให้ประสบความสำเร็จ ลองจับตากันดูให้ดี
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จากนิตยสาร
You must be logged in to post a comment.